ออฟฟิศซินโดรม Office Syndrome โรคที่ชาวออฟฟิศควรระวัง อาจเป็นอัมพาตได้

by administrator

Office Syndrome โรคที่ชาวออฟฟิศควรระวัง อาจเป็นอัมพาตได้

ออฟฟิศซินโดรม คือ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrome) รวมถึงอาการปวดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อและเอ็น (Tendinitis) อาการปวด ชา การนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานทั้งวี่ทั้งวัน แถมยังต้องนั่งจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวันอีกนั้น

ถือเป็นวิถีชีวิตปกติที่เหล่าบรรดาหนุ่มสาวชาวออฟฟิศต้องพบเจอกันอยู่ทุกวันอยู่แล้วและจากพฤติกรรมนี้เอง อาจจะทำให้หลายๆ คนเกิดปัญหา “ปวดหลัง” ได้ยิ่งถ้าเป็นสาวๆ ที่ชอบสวมใส่รองเท้าส้นสูงก็จะยิ่งมีโอกาสปวดหลังได้ง่ายมากกว่าหนุ่มๆ เข้าไปอีก

ในขณะที่บางคนก็แปรสภาพจากชาวออฟฟิศธรรมดาเป็นมนุษย์บ้างาน แบบที่ว่าลมหายใจเข้า – ออกก็เป็นการเป็นงานไปเสียหมด ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะนั่นเท่ากับว่าคุณเลือกที่จะใส่ใจงานมากกว่าตัวเอง บางคนยอมทำงานหามรุ่งหามค่ำ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียสะสม ดังนั้นจึงไม่แปลกหากคนในกลุ่มนี้จะมีปัญหา “ปวดหลังเรื้อรัง” มากกว่าหนุ่มสาวชาวออฟฟิศทั่วๆ ไป

อาการปวดหลังที่บรรดาหนุ่มสาวชาวออฟฟิศส่วนใหญ่มักจะเป็นกันนั้น นอกจากเป็นเพราะ “อุบัติเหตุ” แล้ว ต้นเหตุของโรคนี้กว่า 80% มาจาก “การใช้ชีวิตประจำวัน” ทั่วไปซึ่งก็คือพฤติกรรมต่างๆ ในขณะทำงานนั่นเอง และต้นเหตุมักเกิดจาก “หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท” ทำให้มีอาการปวดหลังส่วนล่าง ปวดตะโพก และลามปวดร้าวลงสู่ขา ซึ่งเกิดจากการอักเสบของเอ็นและกล้ามเนื้อ เพราะการจัดท่าทางร่างกายไม่ถูกต้อง เช่น นั่งหลังงอ เดินหลังโก่ง หรือยกของหนักเกินไป วิธีการรักษาที่นิยมทำกันโดยทั่วไปในปัจจุบันมี 2 วิธี คือ การรักษาด้วยการให้ยาและกายภาพบำบัดแบบ Passive ช่วยลดอาการปวดได้ดี แต่ไม่ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอย่างพอเพียงที่จะป้องกันอาการปวดซ้ำซากในอนาคตได้ ส่วนวิธีการรักษาแบบ Active Rehabilitation เป็นแนวทางใหม่ที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ เป็นที่ยอมรับกันว่าสามารถระงับปัญหาอาการปวดเรื้อรังได้ถาวร ดีกว่าการรักษาแบบเดิมๆ และการออกกำลังกายที่เน้นตรงกล้ามเนื้อในส่วนที่มีปัญหา โดยออกแบบโปรแกรมให้เข้ากับเฉพาะตัวบุคคล และมีผู้ดูแลควบคุมใกล้ชิดได้ผลดีกว่าการออกกำลังกายตามลำพังตัวคนเดียวอย่างชัดเจน

วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ ต้องฟิต

ต้องทำให้ร่างกายแข็งแรงด้วยการออกกำลังกายตามสมควรแก่สภาพร่างกาย ไม่หักโหมเกินตัว และดูแลเรื่องอาหารการกินเพื่อไม่ให้น้ำหนักมากเกินไป รวมถึงการเลิกสูบบุหรี่ด้วย และที่สำคัญก็คือ หมั่นใส่ใจดูแลตัวเองดีๆ เมื่อพบอาการผิดปกติก็ควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา เพราะหากคุณปล่อยเอาไว้จนเรื้อรัง อาการปวดหลังที่ว่าอาจจะกลายเป็นอัมพาตได้ในที่สุด

ปรับพฤติกรรมเพียงนิด พิชิต Office Syndrome กว่า 50% ของพนักงานออฟฟิศ มีอาการออฟฟิศซินโดรม ส่วนใหญ่มาจากการนั่งไม่ถูกท่า มักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเรื้องรังที่ คอ บ่า ไหล่กลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมมีหลากหลาย เช่น ปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า หลังอักเสบ พังผืดทับเส้น ปวดข้อมือ ข้อศอก นิ้วล็อก และกระดูกคอและหลังทับเส้น

คนที่ไม่ได้ทำงานออฟฟิศก็มีโอกาสเป็นออฟฟิศซินโดรมได้หากจัดระเบียบร่างกายไม่ถูกต้อง หรืออยู่ในท่าเดิมนานๆ
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานสามารถแก้ปัญหาออฟฟิศซินโดรมได้ในระยะยาว และทำได้ง่ายกว่าการรักษาเมื่อเกิดอาการเรื้อรัง
ถ้าถามว่าใครเคยปวดคอ บ่า หลังกันบ้าง หนุ่มสาวออฟฟิศคงยกมือกันให้พรึ่บ เพราะอาการเหล่านี้เป็นเหมือนส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนวัยทำงานไปแล้ว จะเห็นได้ว่าเพื่อนๆ ที่ทำงานเราบ่นกันบ่อยๆ ว่า “วันนี้ปวดหลังมาก ต้องไปนวดหน่อยแล้วล่ะ” หรือบางทีตัวเราก็มีอาการปวดตึงที่คอและบ่าบ้างเหมือนกัน ซึ่งจริงๆ แล้วอาการปวดเหล่านี้คือกลุ่มของอาการที่มีชื่อเรียกคุ้นหูว่า “ออฟฟิศซินโดรม” (Office Syndrome) นั่นเอง

ที่เรียกว่า ออฟฟิศซินโดรม เป็นเพราะมักจะพบกลุ่มอาการนี้ในคนที่ทำงานออฟฟิศ แต่จริงๆ แล้วคนที่ไม่ต้องตอกบัตรเข้างานก็มีโอกาสเป็นได้ หากชีวิตประจำวันต้องทำอะไรอยู่กับที่ หรืออยู่ในท่าเดิมนานๆ แม้จะทำงานอยู่ที่บ้าน หรือนั่งเล่นเกมในเกมคาเฟ่ ก็มีสิทธิ์เกิดอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ แพทย์หญิง รมณัฏฐ์ โรจนสุทธิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลหัวเฉียว ให้ข้อมูลว่า ตามสถิติแล้วคนที่ทำงานประจำในออฟฟิศมีอาการออฟฟิศซินโดรมถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในกลุ่มคนเหล่านี้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์พบว่ามีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเรื้อรังที่คอ บ่า และหลัง โดยมีปัจจัยเสี่ยงมาจากการจัดระเบียบร่างกายไม่ถูกต้อง ทำให้คอและหลังอยู่ในท่าที่ผิดเป็นเวลานานๆ และอาจจะมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด การเป็นโรคโลหิตจาง เป็นโรคไทรอยด์สูงหรือต่ำ ซึ่งทำให้มีโอกาสเกิดอาการเหล่านี้ได้มากกว่าคนทั่วไป

หากว่ากันตามจริงอาการออฟฟิศซินโดรมนั้นมีหลากหลายมาก เริ่มตั้งแต่เบาๆ คือ กล้ามเนื้อคอ บ่า หลังอักเสบ ไปจนพังผืดทับเส้น ปวดข้อมือ ข้อศอก นิ้วล็อก และที่หนักเลยคือกระดูกคอและหลังทับเส้น คนที่มีอาการปวดเมื่อย ตึง หรือร้าวกล้ามเนื้อและกระดูก ต้องสังเกตตัวเอง ถ้าเริ่มเป็นและยังส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันไม่มาก ต้องรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

  • ขยับตัวยืดกล้ามเนื้อและปรับท่าทางให้ถูกต้อง : อย่างที่บอกว่าอาการปวดตึงตามจุดต่างๆ เกิดจากการที่ต้องทำอะไรอยู่กับที่ หรืออยู่ในท่าเดิมนานๆ ยิ่งหากเป็นท่าทางที่ผิดด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ดังนั้นหากเริ่มรู้สึกเมื่อยหรือตึงอวัยวะส่วนใดก็ตาม ควรลุกขึ้นขยับร่างกายหรือยืดกล้ามเนื้อบ้าง ที่สำคัญ คือ ลองศึกษาท่านั่งทำงานที่ถูกต้องแล้วนำมาปรับใช้ จะช่วยป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรมได้ในระยะยาว
  • ปรับอุปกรณ์ในออฟฟิศให้พอเหมาะพอดีกับสรีระ : สิ่งแวดล้อมรอบตัวก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรม หากต้องนั่งเก้าอี้ที่ไม่ดี การจัดวางคอมพิวเตอร์บนโต๊ะไม่เหมาะสม จนทำให้คอและหลังอยู่ในท่าที่ไม่ถูกต้องก็ทำให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมได้ ฉะนั้นวิธีแก้ คือ ต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เหล่านี้ให้ดีและเหมาะสม เก้าอี้ ไม่ควรเป็นแอ่งหรือยวบเกินไป ปรับองศาให้พอดีกับโต๊ะ ไม่รู้สึกว่าต้องยกตัวหรือโน้มตัวจนเกินไปเวลาทำงาน นั่งแล้วเท้าต้องวางบนพื้นได้พอดี หากเท้าไม่ถึงพื้นต้องมีที่รองเท้ามาช่วยเสริม ส่วน คอมพิวเตอร์ แบบโน้ตบุ๊กมักจะมีปัญหามากกว่าแบบตั้งโต๊ะ เพราะคีย์บอร์ดติดกับจอจึงต้องก้มตัวเวลาใช้งาน แก้ปัญหาได้ด้วยการเชื่อมต่อคีย์บอร์ดเพิ่มแยกออกมาจากเครื่องโน้ตบุ๊ก เพื่อให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น

ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงและยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ

ในออฟฟิศเดียวกันเราจะสังเกตเห็นว่า บางคนก็ปวดหลังบ่อยๆ ในขณะที่บางคนไม่เคยบ่นว่าปวดนั่นปวดนี่ให้ได้ยินเลย นั่นเป็นเพราะความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อรวมถึงร่างกายของแต่ละคนไม่เท่ากัน คนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอจะแข็งแรงและยืดหยุ่นกว่า โอกาสที่จะเป็นออฟฟิศซินโดรมจึงน้อยกว่า ดังนั้นหากไม่อยากเป็นก็ต้องเสริมสร้างกล้ามเนื้อและร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย

ลดน้ำหนัก ลดการบาดเจ็บ

น้ำหนักตัวมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากต่ออาการออฟฟิศซินโดรม โดยเฉพาะอาการปวดที่หลังกับเข่า หากน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานก็จะยิ่งส่งผลต่อหลังและเข่ามาก ทางที่ดีคือต้องควบคุมน้ำหนักเพื่อลดโอกาสของการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ส่วนใหญ่แล้วหากปรับเปลี่ยนทั้งตัวเองและสิ่งแวดล้อมรอบตัวตามที่บอกมา อาการออฟฟิศซินโดรมก็จะไม่กลับมาอีก แต่หากปรับแล้วก็ยังคงไม่ดีขึ้น และเริ่มมีอาการปวด ตึง ร้าวเรื้อรัง แขนขาอ่อนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก การพบแพทย์คือทางออกที่ดีที่สุด

การปรับสมดุลโครงสร้างร่างกายกับการสร้างสุขภาพ

ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นที่อวัยวะเสื่อมคุณภาพ ถ้าสามารถทำให้อวัยวะนั้นแข็งแรงขึ้นได้ การทำงานของอวัยวะจะทำได้ดีขึ้นตามไปด้วย การที่จะทำให้อวัยวะแข็งแรงขึ้นต้องมีการส่งสารอาหารที่จำเป็นและมีการลำเลียงของเสียออกจากอวัยวะไปทิ้งอย่างสะดวก ซึ่งในการนี้ต้องอาศัยเลือดเป็นตัวนำพาไป เลือดจะไหลเวียนได้สะดวกย่อมต้องไหลไปตามหลอดเลือดที่ยืดหยุ่นดีมีประสิทธิภาพสูง หลอดเลือดทั้งหลายล้วนอยู่ภายในเนื้อเยื่อของร่างกาย ถ้าเนื้อเยื่อต่างๆ มีความสามารถบีบตัวได้ดี ก็จะนำพาเลือดให้ไหลเวียนไปได้อย่างปกติ ระบบการไหลเวียนเลือดที่เป็นหัวใจสำคัญจึงต้องพึ่งพาระบบกล้ามเนื้อด้วย กล้ามเนื้อที่ดีมีคุณภาพจะต้องอยู่ในโครงสร้างร่างกายที่ถูกต้องตามแนวปกติ ซึ่งโครงสร้างร่างกายที่สำคัญคือโครงกระดูกที่เป็นแกนของร่างกายนั่นเอง ถ้าทุกอย่างเป็นเช่นนี้สุขภาพของเราจะดีขึ้นได้อย่างเป็นระบบ

แต่เมื่อใดที่โครงสร้างร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระดูกสันหลังมีการเบี่ยงเบนคดโค้งไปจากแนวปกติ กล้ามเนื้อต่างๆจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปด้วย ทำให้การทำงานไม่สะดวกเหมือนเดิม ขณะเดียวกันหลอดเลือดที่อยู่ในกล้ามเนื้อก็จะเปลี่ยนทิศทางไป อาจมีการกดทับหรือยืดหลอดเลือดมากเกินไป ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เป็นผลให้การทำงานส่งกำลังบำรุงและการนำของเสียออกจากอวัยวะที่ไปเลี้ยงนั้นทำได้ไม่เต็มที่ อวัยวะนั้นก็จะเสื่อมคุณภาพไปทีละน้อย นานวันเข้าก็เสื่อมจนเกิดอาการเจ็บป่วยออกมาให้เราเห็นได้
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ทางแก้ไขหรือรักษาให้อวัยวะแข็งแรงขึ้นทางหนึ่งคือ เราต้องจัดโครงสร้างร่างกายให้อยู่ในแนวปกติ หรือป้องกันไม่ให้เกิดการเบี่ยงเบนไปมากขึ้น ซึ่งจะทำได้อย่างง่ายๆด้วยตัวผู้ป่วยเอง แต่ต้องใช้เวลาพอสมควรเช่นเดียวกับการเกิดโรคที่ใช้เวลาคดโค้งมานานก่อนเกิดอาการ การปรับสมดุลโครงสร้างร่างกายจึงมีความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติทันที