ไฟ คืออะไร เกิดขึ้นได้ยังไง
“ไฟ” เป็นปฏิกิริยาเคมี ที่เรียกกันว่า “การเผาไหม้” โดยไฟจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่าง ได้แก่
- เชื้อเพลิง (Fuel)
- ออกซิเจน (Oxygen)
- ความร้อน (Heat)
หากครบทั้งสามองค์ประกอบแล้ว ก็จะสามารถเกิดเป็นไฟขึ้นได้ เรียกว่า “สามเหลี่ยมการเกิดไฟ” ซึ่งหากขาดองค์ประกอบใดไป จะไม่เกิดไฟขึ้น
องค์ประกอบในการเผาไหม้ มีอยู่ 4 องค์ประกอบ คือ
- เชื้อเพลิง (Fuel) คือ วัตถุที่สามารถทำปฏิกิริยากับออกซิเจนได้ อาจจะอยู่ในรูปของ ของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ แต่ถ้าอยู่ในสถานะก๊าซ สามารถลุกติดไฟได้เร็วที่สุด
- ออกซิเจน (Oxygen) คือ อากาศที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ซึ่งในบรรยากาศปกติ จะมีออกซิเจนอยู่ประมาณ 21% ซึ่งในการเผาไหม้แต่ละครั้ง ต้องการออกซิเจนเพียง 16% เท่านั้น นั่นหมายความว่า ในสภาวะปกติ สามารถเกิดไฟได้ หากมีอีก 2 องค์ประกอบ
- ความร้อน (Heat) คือ อุณหภูมิที่สามารถลุกติดไฟได้
- ปฏิกิริยาลูกโซ่ (Chain Reaction) คือ การเผาไหม้อย่างต่อเนื่อง
วิธีการดับไฟ สามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่
- กำจัดเชื้อเพลิง เช่น การขนย้ายวัสดุที่ติดไฟได้ออกจากกองไฟที่กำลังไหม้ การปิดวาล์วก๊าซ เป็นต้น
- ทำให้เย็นตัว หรือลดอุณหภูมิ เช่น การใช้น้ำฉีดเข้าไป ในกองไฟที่กำลังไหม้
- ทำให้อับอากาศ (ออกซิเจน) คือ การลดออกซิเจน ลงให้เหลือน้อยกว่า 16% เช่น การใช้ฝาหม้อปิดกะทะน้ำมันที่ไฟไหม้ เพื่อกำจัดออกซิเจน
ซึ่งในการดับไฟ ต้องเลือกวิธีที่เหมาะสม กับสถานะการนั้นๆ หากเราสามารถทำวิธีใดวิธีหนึ่งได้ ปฏิกิริยาลูกโซ่ก็จะถูกตัดลงด้วยเช่นกัน
ประเภทของไฟ มีอะไรบ้าง
แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ตามมาตรฐาน NFPA (National Fire Protection Association) ดังนี้
- ไฟประเภท A ไฟไหม้เชื้อเพลิงธรรมดา เช่น ไม้ กระดาษ พลาสติก เป็นต้น
- ไฟประเภท B ไฟไหม้เชื้อเพลิงเหลว ก๊าซ
- ไฟประเภท C ไฟไหม้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่
- ไฟประเภท D ไฟไหม้โลหะ และสารเคมี
- ไฟประเภท K ไฟไหม้น้ำมันทำอาหาร
ทำไมต้องมีความรู้ขั้นพื้นฐานในการดับไฟ
เราคงเคยได้ยินคำที่ว่า “โจรปล้น 10 ครั้ง ไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว” เพราะถ้าโจรปล้น เรายังเหลือบ้าน แต่ถ้าไฟไหม้จะไม่เหลืออะไรเลย เพราะฉะนั้น หากมีความรู้พื้นฐานในการดับไฟ ย่อมเป็นผลดี
กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 ได้ระบุไว้ ในหมวด 8 “ข้อ 27 ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละสี่สิบของจำนวนลูกจ้างในแต่ละหน่วยงานของสถานประกอบกิจการรับการฝึกอบรมดับเพลิงขั้นต้น” นอกจากกฎหมายกำหนดว่าต้องอบรมดับเพลิงขั้นต้นแล้วสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ การให้พนักงานในบริษัทมีความรู้ในการดับไฟ และสามารถทำได้จริง หากพบเจอเหตุการณ์จริง จะทำยังไงให้พนักงานสามารถทำได้ โดยไม่ตื่นตกใจจนทำอะไรไม่ถูก นั่นคือการฝึกซ้อม ยิ่งซ้อมบ่อยเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผลดีเท่านั้น เราต้องให้พนักงานในหน่วยงานนั้นๆ รู้จักเชื้อเพลิงในพื้นที่ที่ตนเองทำงานอยู่ หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง ก็จะสามารถดับไฟได้อย่างถูกวิธี และปลอดภัย
เมื่อพบไฟไหม้ ต้องทำอย่างไร
สิ่งแรกที่ต้องทำ เมื่อพบไฟไหม้ คือตั้งสติ และตะโกนเสียงดังๆ ว่า “ไฟไหม้” เพื่อให้คนที่อยู่ใกล้เคียง ได้ยิน เพื่อจะได้รู้ว่ามีไฟไหม้เกิดขึ้น และหากเราใช้ถังดับเพลิงเป็น ก็ให้ไปหยิบถังดับเพลิงที่อยู่บริเวณใกล้เคียงมาดับไฟ แต่หากเราใช้ถังดับเพลิงไม่เป็น เมื่อคนใกล้เคียง ได้ยินที่เราตะโกน จะได้มาช่วยเราดับไฟ ยิ่งเราสามารถดับไฟได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีมากเท่านั้น เพราะหากยิ่งใช้เวลานาน เพลิงก็จะยิ่งลุกลามมากขึ้น และควบคุมสถานการณ์ได้ยากขึ้นด้วยเช่นกัน
ถังดับเพลิงใช้ยังไง
เราคงเคยได้ยิน จนคุ้นหู ว่าวิธีการใช้ถังดับเพลิง คือ “ดึง ปลด กด ส่าย” ฟังดูเหมือนง่าย แต่ถ้าลองใช้จริง ก็จะรู้ว่ามันไม่ง่าย แต่ก็ไม่อยาก เราลองมาดูวิธีการใช้ถังดับเพลิงกัน
- ดึง คือ ดึงสลักออกจากถังดับเพลิง
- ปลด คือ ปลดสายฉีดของถังดับเพลิงออกจากตัวถัง โดยจับบริเวณปลายสายฉีดแล้วดึงออกมา
- กด คือ กดคันบีบของถังดับเพลิงเพื่อให้เคมีในถังออกมาใช้ในการดับเพลิง
- ส่าย คือ การส่ายปลายสายฉีดไปมา เพื่อดับเพลิง ควรฉีดไปยังฐานของเพลิง ไม่ควรฉีดไฟที่เปลวเพลิง
ในการใช้ถังดับเพลิง ผู้ฉีดต้องอยู่เหนือลม เพราะหากอยู่ใต้ลม เวลาที่เราฉีดออกไป สารเคมีก็จะตีกลับมาหาผู้
ฉีดเอง และที่สำคัญหากมีการใช้ถังดับเพลิงไปแล้ว ต้องแจ้งผู้รับผิดชอบ เพื่อนำถังดับเพลิงที่ผ่านการใช้งานแล้ว ไปบรรจุใหม่ เป็นการเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
จากที่กล่าวมาข้างต้น หากเราต้องการให้เกิดความชำนาญ และสามารถปฏิบัติได้จริง สิ่งที่ดีที่สุด คือ การฝึกซ้อม และฝึกซ้อม เมื่อฝึกซ้อมบ่อย เวลาเจอเหตุการณ์จริง ก็จะทำได้ โดยไม่ตื่นตกใจ